ประสบการณ์ต่างแดน ระบบชดเชยความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข
หลังเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 ประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือ การเคลื่อนไหวคัดค้านของแพทย์และกลุ่มวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุขต่อ ร่างกฎหมาย “คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข” เนื่องจาก ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และเตรียมเสนอให้รัฐสภาพิจารณาเพื่อประกาศใช้บังคับต่อไป ร่างกฎหมายดังกล่าวพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2549 และคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการ และเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาในปี 2550 โดยใช้เวลาพิจารณานานเกือบ 1 ปี โดยความเห็นแตกต่างระหว่างผู้เกี่ยวข้องคือ กลุ่มผู้ป่วยและภาคประชาสังคม และกลุ่มแพทย์นั้นมีมาตลอดขั้นตอนกระบวนการต่างๆ
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งดังกล่าว เนื่องจาก สวรส. เป็นผู้จัดการความรู้ให้เกิดการยกร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้น โดยมีการนำความรู้ที่ได้จากการทบทวนประสบการณ์จากต่างประเทศและการศึกษา วิจัยที่เกี่ยวข้องเป็นปัจจัยนำเข้าสำคัญ ทั้งนี้ตระหนักดีถึงความเห็นแตกต่างและความขัดแย้งของผู้คนที่เกี่ยวข้อง แต่ก็คาดหวังว่าด้วยความรู้และข้อมูลประจักษ์ต่างๆ จะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจและความเห็นร่วมของทุกฝ่าย และนำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพในภาพรวมต่อไป
หนังสือเล่มนี้ รวบรวมความรู้ที่ได้จากการทบทวนประสบการณ์ประเทศต่างๆ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล และเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยนำเข้าประกอบการพัฒนาร่างกฎหมายดังกล่าว การทบทวนความรู้และประสบการณ์ดังกล่าว ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งดูแลการดำเนินงานตามมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นกับผู้ป่วยบัตรทอง ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการ และประสบการณ์การดำเนินงานตามมาตรา 41 เป็นอีกส่วนหนึ่งของบทเรียนสำคัญในการยกร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้น
สวรส. หวังว่าหนังสือเล่มนี้ จะช่วยสร้างความเข้าใจพื้นฐานของความคิดในประเด็นต่างๆ ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงกันมากขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความเห็นที่แตกต่างนี้จะไม่นำไปสู่ความขัดแย้งและความแตกแยกทางสังคมเหมือน เช่นที่เกิดขึ้นกรณีของความขัดแย้งทางการเมือง
- อ่าน 4722 คน
- พิมพ์หน้านี้