สร้าง (แผน) งาน... สาน (พลัง) ใจ ณ เมืองน่าน นะสิ อะฮิ อะฮิ
R2R ประเทศไทย จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อวางแผนการขับเคลื่อนงาน R2R ประเทศไทย พร้อมศึกษาดูงาน ณ จังหวัดน่าน โดยผู้ร่วมเดินทางครั้งนี้ ประกอบด้วยอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมขับเคลื่อนงานในยุคเริ่มต้น อาทิ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช รวมถึงคณะกรรมการดำเนินงานแผนงาน R2R ประเทศไทย ประธานเครือข่าย R2R จากทั่วประเทศ และทีมงาน กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ นับเป็นเรื่องราวที่น่าประทับใจของทั้งคณะศึกษาดูงานฯ และทีมงานทุกคน เพราะมีทั้งมิติสร้างงานที่มีการวางแผนขับเคลื่อนการดำเนินงาน R2R ใน 5 ปีข้างหน้า โดยใช้กระบวนการ World Café สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้ได้แนวคิดที่น่าสนใจเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนงาน ซึ่งทางทีมงานจะนำข้อสรุปมาเผยแพร่สู่ครอบครัว R2R ต่อไปคะ
นอกจากมิติสร้างงานแล้วเรายังมีมิติสร้าง (พลัง) ใจ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่านและปูชนียบุคคลผู้เป็นที่เคารพรักของ ชาวน่าน ที่ได้กรุณาให้เกียรติมาร่วมงานขันโตกและกล่าวต้อนรับชาว R2R ทางทีมงานขออนุญาตนำเสนอคำกล่าวบางช่วง ดังนี้ค่ะ
“ลูกๆ หลานๆ R2R ที่รักทุกท่าน ผมไม่เคยรู้จัก R2R มาก่อน ไม่รู้ว่ามันมีความหมายอะไรสำหรับผม จนกระทั่งเมื่อได้ไปร่วมงาน 30 ปี รพ.ท่าวังผา ได้เห็นทีมงานเชิญชวน ไปดูผลงาน แล้วก็ตามไปดูของคนอื่น ได้เห็นทีมงานมีความสุขกับงานที่ตนเองทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยาก ทำให้คิดว่ามันต้องมีปัจจัยอะไรบางอย่างที่ทำให้เกิดขึ้น องค์ประกอบหนึ่งก็คือ R2R กับอีกส่วนหนึ่งก็คือบุคลิกของผู้อำนวยการเอง เราพูดกันมากถึงเรื่องโอกาส โอกาสมีสองระดับ ระดับแรกคือ คิดได้ ทำได้ รวมถึงการได้รับการอบรมโดยไม่รู้ตัว จากการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง โอกาสอันที่สองคือเมื่อท่านมาทำงานแล้ว ท่านได้คิด ได้พูด ได้ทำหรือไม่ คิดว่า R2R ได้ให้โอกาสนั้นแก่ทุกคน” เรียบเรียงโดย นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) นับว่าเป็นกำลังใจสำคัญที่ทำให้เราอยากขยายงาน R2R สู่บุคลากรสาธารณสุขทุกระดับทั่วประเทศ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้สร้างสรรค์ผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทย
การสร้างพลังใจ ลำดับต่อไปทางทีมงานฯได้มีการจัดศึกษาดูงาน 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลท่าวังผา ที่นับว่าเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลต้นแบบการทำ R2R ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ว่า มีประโยชน์ต่อคนหน้างาน ผู้รับบริการและชุมชนไม่เพียงเท่านั้น รพ.ท่าวังผายังมีความพิเศษในการนำ KM มาประยุกต์ใช้ควบคู่กับ R2R ได้อย่างลงตัว ซึ่งทำให้รพ.ท่าวังผากลายเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างเต็มรูปแบบ และชุมชนถืมตอง อ.เมือง จ.น่าน ด้วยจุดเริ่มต้นของผู้นำชุมชนและชาวบ้านเพียงไม่กี่คนที่อยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนชุมชนให้เป็นชุมชนน่าอยู่ เขาเหล่านั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและความเชื่อมั่นว่า ต้องทำได้ จึงทำให้ชาวบ้านคนอื่นๆหันมาร่วมมือเพื่อพัฒนาชุมชนของตนเองให้น่าอยู่จากตำบลเล็กๆที่มีปัญหามากมาย ทั้งสุรา หนี้สิน เยาวชนทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด แต่วันนี้ชุมชนถืมตองกลับกลายเป็นชุมชนในฝันของใครหลายๆคน (เราจะหาโอกาสมาเล่าสู่กันฟังนะคะ ว่าชาวถืมตองทำอย่างไรกัน) ซึ่งการเดินทางสู่ รพ.ท่าวังผาและชุมชนถืมตองครั้งนี้ช่วยการสร้างพลังใจให้กับคณะทำงานได้อย่างมากเลยทีเดียว
ทางทีมงาน R2R ประเทศไทย ขอขอบพระคุณ รพ.น่าน รพท่าวังผา ชาวน่านและผู้เกี่ยวข้องทุกท่านที่ได้กรุณาให้คำแนะนำในเรื่องสถานที่การศึกษาดูงาน สถานที่ท่องเที่ยวอันล้ำค่าของชาวน่าน ซึ่งช่วยเติมเต็มมิติการสร้างพลังใจของคณะเดินทางฯ ให้สมบูรณ์แบบมากขึ้นค่ะ
ขอทิ้งท้ายด้วยคำกล่าวจาก ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่เติมเต็มใจของพวกเราทีมงาน R2R ประเทศไทย ให้มีพลังขับเคลื่อนงานให้ดียิ่งขึ้นคะ
“ การทำ R2R ทำให้คนทำมีความประณีตในการทำงานทุกอย่าง แม้จะเริ่มต้นจากเรื่องเล็กๆ แต่เมื่อนำมาร้อยเรียงกันก็เป็นเรื่องที่มีผลกระทบสูง เป็นหน้าที่ของผู้นำที่จะต้องชี้นำและส่งเสริมให้เห็นโอกาสในการร้อยเรียงเรื่องราวต่างๆ เข้าด้วยกัน” (ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช กล่าวสรุปต่อเนื่องจากความรู้สึกชื่นชมในความประณีตของผู้จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ R2R ประเทศไทยที่ จ.น่าน) เรียบเรียงโดย นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน)
- อ่าน 4091 คน
- พิมพ์หน้านี้